วันอังคารที่ 2 มีนาคม พ.ศ. 2553

การประเมินสุขภาพของลูกน้อยในครรภ์ด้วยตัวคุณแม่เอง

สุพิศ ศิริอรุณรัตน์
คณะพยาบาลศาสตร์

สวัสดีค่ะพบกันอีกเช่นเคยในรายการสุขภาพดีชีวีมีสุข วันนี้มีเรื่องน่าสนใจมาฝากคุณแม่ที่กำลังตั้งครรภ์ เกี่ยวกับการดูแลสุขภาพของลูกน้อยในครรภ์ ลองมาฟังดูนะค่ะ เมื่อตั้ง ครรภ์คุณแม่ทุกคนย่อมปรารถนาให้ลูกในครรรภ์มีสุขภาพสมบูรณ์แข็งแรง คุณแม่มักจะกังวลว่าลูกของคุณแม่จะแข็งแรงหรือไม่ เพื่อลดความกังวลของคุณแม่ มีวิธีที่คุณแม่สามารถตรวจสอบด้วยตนเองในขั้นต้นว่า ลูกของคุณแม่สมบูรณ์แข็งแรง มีการเจริญเติบโตที่ปกติหรือไม่ โดยไม่ยากเลยค่ะ วิธีต่างๆที่จะมาเล่าให้คุณแม่ฟังมีดังนี้ค่ะ

=========

วิธีแรก ให้คุณแม่ชั่งน้ำหนักตัวของคุณแม่ทุก 1 สัปดาห์ โดยเริ่มเมื่อคุณแม่ตั้งครรภ์ได้ประมาณ 3 เดือน ที่ไม่ให้คุณแม่ชั่งน้ำหนักก่อนหน้านี้ เพราะว่าในช่วง 3 เดือนแรกของการตั้งครรภ์ น้ำหนักของคุณแม่ส่วนใหญ่จะไม่เพิ่มขึ้น เนื่องจากคุณแม่มักมีอาการแพ้ท้อง ทำให้รับประทานอาหารไม่ได้ หรือรับประทานได้น้อย และบางครั้งอาจรับประทานอาหารไม่ครบทั้ง 5 หมู่ ดังนั้นในช่วง 3 เดือนแรกนี้ ถ้าคุณแม่น้ำหนักไม่เพิ่มขึ้นกว่าก่อนการตั้งครรภ์ คุณแม่ยังไม่ต้องวิตกกังวลค่ะ แต่เมื่อหลัง 3 เดือนไปแล้วเป็นช่วงที่ลูกน้อยในครรภ์มีการเจริญเติบโตอย่างมาก และอาการแพ้ท้องของคุณแม่จะหายไป คุณแม่สามารถรับประทานอาหารได้ น้ำหนักตัวของคุณแม่ควรจะเพิ่มขึ้นสัปดาห์ละประมาณ ครึ่งกิโลกรัม ถ้าคุณแม่มีน้ำหนักตัวเพิ่มขึ้นน้อยกว่านี้แสดงว่าคุณแม่ รับประทานอาหารไม่เพียงพอแก่ความต้องการของลูกในครรภ์

ซึ่งจะทำให้ลูกเกิดมาน้ำหนักน้อยกว่าปกติได้ ตรงกันข้ามถ้าน้ำหนักตัวของคุณแม่เพิ่มมากกว่า ครึ่งกิโลกรัมใน 1 สัปดาห์ คุณแม่ต้องสังเกตตัวเองว่าคุณแม่มีอาการบวมหรือไม่ หรือคุณแม่มีประวัติกรรมพันธุ์เป็นเบาหวานหรือไม่ อาการบวมอาจจะแสดงว่าคุณแม่มีปัญหาเรื่องความดันโลหิตสูงที่เกิดจากการตั้ง ครรภ์ ซึ่งจะส่งผลต่อภาวะสุขภาพของตัวคุณแม่เองและลูกในครรภ์ คุณแม่จำเป็นต้องไปพบแพทย์ หรือพยาบาลที่สถานบริการที่คุณแม่ไปฝากครรภ์ ถ้าคุณแม่ไม่บวม หรือตรวจไม่พบว่าเป็นเบาหวาน อาจเป็นไปได้ว่าถึงคุณแม่รับประทานมากเกินไป ซึ่งจะทำให้ลูกในครรภ์ของคุณแม่ตัวใหญ่เกินไป เมื่อถึงเวลาคลอดจะคลอดยาก หรือมิเช่นนั้นคุณแม่ก็จะมีน้ำหนักส่วนเกินเหลือมากเกินไปเมื่อหลังคลอด ดังนั้นน้ำหนักที่ขึ้นน้อยหรือมากเกินไป เป็นสิ่งที่แสดงถึงความผิดปกติที่คุณแม่ต้องใส่ใจค่ะ

=============

วิธีต่อมาเป็นวิธี ที่คุณแม่ต้องคอยสังเกตขนาดหน้าท้องของคุณแม่ว่าโตขึ้นหรือไม่ วิธีนี้ใช้ร่วมกับวิธีแรก คือ ถ้าน้ำหนักคุณแม่ขึ้นดีตามเกณฑ์คือสัปดาห์ละครึ่งกิโลกรัม หน้าท้องของคุณแม่จะโตขึ้น แต่ถ้าน้ำหนักคุณแม่ขึ้นแต่หน้าท้องไม่โตขึ้น ก็เป็นอาการที่บ่งบอกว่าไม่น่าไว้วางใจ คุณแม่จะต้องไปพบคุณหมอ อีกเช่นกัน การสังเกตการโตขึ้นของหน้าท้องอาจสังเกตไม่ได้ชัดเจนนัก ถ้าคุณแม่สังเกตทุกสัปดาห์ เพราะเมื่อคุณแม่ตั้งครรภ์ได้ตั้งแต่ห้าเดือนซึ่งความสูงของหน้าท้องจะ ประมาณระดับสะดือ จากนั้นหน้าท้องจะโตขึ้นประมาณสัปดาห์ละ 1 เซนติเมตร คุณแม่จะสังเกตได้ยาก ดังนั้นการสังเกตความสูงของหน้าท้องคุณแม่อาจใช้วิธีสังเกตทุกเดือน หรือทุก 4 สัปดาห์ หน้าท้องจะโตขึ้นประมาณ 4 เซนติเมตร ซึ่งสามารถสังเกตได้ชัด ถ้าหน้าท้องคุณแม่ไม่เพิ่มขึ้นเลยในช่วง 1 เดือน แสดงว่าต้องมีปัญหาแน่ๆค่ะ ต้องรีบไปหาคุณหมอโดยด่วนนะค่ะ

======

วิธีที่ 3 วิธีนี้คุณแม่สามารถใช้ตรวจสุขภาพของลูกในครรภ์ได้ดีที่สุดและเป็นวิธีที่ ง่ายและให้ผลค่อนข้างแม่นยำ คือ วิธีการนับลูกดิ้น ลูกน้อยในครรภ์คุณแม่จะเริ่มดิ้นเมื่อคุณแม่ตั้งครรภ์ได้ 5 เดือน ในคุณแม่ครรภ์แรก และ 4 เดือนในคุณแม่ครรภ์หลัง คุณแม่ครรภ์หลังจะรับรู้ได้เร็วกว่าเพราะมีประสบการณ์ในการตั้งครรภ์มาก่อน การดิ้นของลูกในครรภ์ หมายถึงการที่ลูกยังมีสุขภาพสมบูรณ์แข็งแรงดี แต่การนับลูกดิ้นควรเริ่มนับเมื่อคุณแม่ตั้งครรภ์ได้ 6 เดือนเต็มไปแล้ว การนับก่อนหน้านี้อาจไม่มีประโยชน์ เพราะว่าลูกในครรภ์ยังตัวเล็กมากเกินไป ดิ้นยังไม่แรงเต็มที่ บางครั้งลูกดิ้นแต่คุณแม่ไม่รู้สึกว่าดิ้น ทำให้คุณแม่เกิดความวิตกกังวลและทำให้เกิดความเครียดได้ ดังนั้นคุณแม่ควรเริ่มนับลูกดิ้นเมื่ออายุครรภ์ครบ 6 เดือนเต็มไปแล้ว จะได้ค่าที่แม่นยำและเชื่อถือได้มากกว่า

====

วิธีการนับลูกดิ้นให้คุณแม่นับในช่วง 1 ชั่วโมงภายหลังรับประทานอาหารในแต่ละมื้อ เวลาในช่วงหลังรับประทานอาหารเป็นเวลาที่คุณแม่พักผ่อนไม่ได้ทำกิจกรรมใดๆ ซึ่งจะทำให้คุณแม่มีสมาธิในการรับรู้การดิ้นของลูกได้ดี ถ้าลูกในครรภ์ของคุณแม่สุขภาพสมบูรณ์ดี จะดิ้นไม่น้อยกว่า3-4 ครั้ง ใน 1 ชั่วโมง เมื่อรวมการนับหลังอาหารทั้ง 3 มื้อ ลูกไม่ควรดิ้นน้อยกว่า 1 ครั้ง ถ้าลูกของคุณแม่ดิ้นน้อยกว่า 10 ครั้ง คุณแม่จะต้องรีบมาพบคุณหมอทันที เป็นอย่างไรบ้างค่ะวิธีการตรวจสอบภาวะสุขภาพของลูกน้อยในครรภ์ด้วยตัวคุณแม่ เอง คงไม่ยากเกินไปที่คุณแม่จะลองนำไปใช้ใช่ไหมค่ะ

====

สรุปก็มี 3 วิธี คือ การชั่งน้ำหนักตัว การสังเกตการโตขึ้นของขนาดหน้าท้อง และการนับลูกดิ้น หวังว่าวิธีการเหล่านี้คงจะเป็นประโยชน์ต่อคุณแม่ ถ้าคุณแม่ท่านใดมีข้อสงสัย หรืออยากทราบรายละเอียดเพิ่มเติม คุณแม่สารถเขียนจดหมายสอบถามได้ที่ภาควิชาการพยาบาลแม่และเด็ก คณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา วันนี้คงต้องกล่าวคำว่าสวัสดี ขอให้คุณแม่ทุกท่านมีสุขภาพสมบูรณ์แข็งแรงและมีลูกที่แข็งแรงน่ารักทุกคนค่ะ